Contact us
 


                       

css buttons by Css3Menu.com

           
Pause Play
 

FAQ


 
 

ทางโครงการได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่และประชาชนที่สนใจได้ซักถามเกี่ยวกับข้อห่วง ข้อกังวล ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ รวมถึงผลประโยชน์ท้องถิ่นและประชาชนจะได้รับเพื่อบรรเทาความกังวลและคลายข้อสงสัยต่างๆ ดังนี้

 
 


ด้านเศรษฐกิจ

 
 

1. การเกิดขึ้นของโครงการทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างรายได้อย่างไร
โครงการทำให้เกิดการจ้างงานทั้งในช่วงเตรียมการทำเหมืองและช่วงการดำเนินการทำเหมือง โดยในระยะยาวโครงการจะมีการจ้างงานทางตรงกว่า 900 อัตรา และคาดว่า
จะเกิดการจ้างงานทางอ้อมอีก 4,500 อัตรา นอกจากนี้ ยังจะเกิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รองรับโครงการ รวมทั้งจะเกิดการเติบโตของธุรกิจ และบริการ
ที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่อไปในอนาคต

 
 

2. การเกิดขึ้นของโครงการจะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ย และทำให้ราคาปุ๋ยลดลงอย่างไร
ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยทั้งหมด ดังนั้น หากมีการผลิตแร่โพแทชขึ้นในประเทศ จะช่วยลดการนำเข้า และเพิ่มรายได้จากการส่งออก
จากแร่โพแทช (เนื่องจากปริมาณแร่โพแทชที่ผลิตได้มีมากกว่าปริมาณที่ต้องการใช้ในประเทศ) นอกจากนี้ ยังทำให้ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มราคาถูกลง เพราะไม่ต้องเสียค่า ใช้จ่าย
ในการขนส่ง เป็นการสนับสนุนเกษตรกรไทยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ โครงการยังได้จัดกองทุน ช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกร
ในพื้นที่ประทานบัตร เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตรใช้ปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลงอีก

 
 

3. กองทุนต่างๆ ที่โครงการจัดตั้งขึ้นนั้น ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้อย่างไร
โครงการได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางการใช้เงินของกองทุนต่างๆ ที่มอบให้กับประชาชนทั้งในพื้นที่ประทานบัตร และพื้นที่ศึกษาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม
ในทาง ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ คณะกรรมการบริหารกองทุนนั้นๆ (ซึ่งมาจากประชาชนที่เป็นตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย) สามารถปรับเปลี่ยน
และเพิ่มเติม ได้ตามความเหมาะสม จึงมั่นใจได้ว่ากองทุนเหล่านี้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

 
 


ด้านสิ่งแวดล้อม

 
 


1. โครงการจะป้องกันเรื่องดินทรุด ดินเค็ม น้ำเกลือ ผลกระทบต่อแหล่งผิวดินและฝุ่นเกลืออย่างไร

      - การทรุดตัวของผิวดินจะค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นพื้นที่กว้าง และมีการทรุดตัวโดยเฉลี่ยปีละไม่ถึง 1 เซนติเมตร โดยจุดที่มีการทรุดตัวสูงสุดมีพื้นที่ไม่มาก และมีการทรุดตัว
รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 40 เซนติเมตร จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ และกิจกรรมการทำอาชีพของชุมชน รวมทั้งการทรุดตัวของผิวดินในระดับดังกล่าว
จะไม่ทำให้ทิศทางการไหลและระดับน้ำในลำห้วยและหนองต่างๆ บนผิวดินเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นห้วยหิน ห้วยน้ำเค็ม ห้วยวังแสง หนองอุทัย และหนองกุง
รวมทั้งไม่มีผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับ และทิศทางการไหลของน้ำบาดาล และไม่ทำให้สิ่งก่อสร้างต่างๆ เกิดความเสียหายไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน อาคาร
สะพาน ทางรถไฟ ถนน ท่อส่งน้ำฯ
      - ฝุ่นเกลือ การลำเลียงหางแร่จากโรงงานไปเก็บในพื้นที่กองหางแร่นั้น หางแร่จะอยู่ในลักษณะเปียกชื้น จึงไม่มีฝุ่นละออง จากนั้นเมื่อหางแร่แห้งจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง
ไม่เกิดเป็นฝุ่น ส่วนขั้นตอนการผลิตที่อาจเกิดฝุ่น โครงการก็ได้มีมาตรการป้องกันไว้แล้ว เช่น สายพานลำเลียงก็จะมีการปกคลุมอย่างมิดชิด ปล่องระบาย และเครื่องจักร
จะมีการติดตั้งระบบดักกรองฝุ่น พื้นที่รอบโครงการก็มีการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวกันฝุ่นอีกชั้นหนึ่ง

 
 


2. โครงการจะแย่งใช้น้ำสาธารณะของประชาชนหรือไม่

      ทางโครงการจะไม่มีการนำน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะในบริเวณใกล้เคียงมาใช้ ส่วนน้ำใช้ของคนงานและพนักงานของโครงการได้มีการแจ้งไปที่การประปา
ส่วนภูมิภาค โดยมีหนังสือยืนยันจากการประปาว่าสามารถจ่ายน้ำให้กับโครงการได้อย่างเพียงพอ และไม่กระทบต่อการใช้น้ำประปาของชุมชน

 
 


3. โครงการจะจัดการกับฝุ่นละอองจากการก่อสร้างและขนส่งอย่างไร

      โครงการมีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากการเกิดฝุ่นละอองจากกิจกรรมการปรับพื้นที่และการก่อสร้าง โดยจะควบคุมให้มีการเปิดหน้าดินเท่าที่จำเป็น ทำการ
ก่อสร้างให้รวดเร็วที่สุดรวมทั้งมีการฉีดพรมน้ำบริเวณหน้างานและถนนเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ส่วนรถที่จะออกจากโครงการจะต้องมีการล้างล้อทุกครั้ง เพื่อ
ไม่ให้ฝุ่นเกาะติดไปกับล้อรถ และจำกัดความเร็วของรถที่วิ่งภายในโครงการ ส่วนการขนส่งผลิตภัณฑ์นั้น การบรรจุ เป็นระบบปิด และรถบรรทุกเป็นคอนเทนเนอร์
จึงไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองรบกวนชุมชน

 
 


4. หากเกิดเสียงรบกวนจากการขนส่งและส่งผลให้ถนนชำรุด โครงการจะดำเนินการอย่างไร

     - เสียงที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการได้จัดให้มีการปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้างด้วยรั้วสังกะสีทึบสูง 3 เมตร ซึ่งสามารถลดระดับเสียงจากกิจกรรมเตรียมการของ
โครงการได้ รวมถึงมีการจัดตารางเวลาสำหรับกิจกรรมเตรียมการทำเหมืองและการก่อสร้างให้ดำเนินการเฉพาะในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น เพื่อไม่ให้รบกวนชีวิต
ความเป็นอยู่ นอกจากนี้ โครงการยังเลือกใช้อุปกรณ์ เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดเสียงในระดับต่ำ ทั้งยังมีการบำรุงรักษาเครื่องจักรไม่ให้เสื่อมสภาพ
- การขนส่งและการชำรุดของถนนนั้น โครงการได้มีการจำกัดความเร็วของรถที่เข้าออกโครงการ และมีกองทุนเพื่อดูแลและปรับปรุงพื้นผิวจราจรหากเกิดความเสียหาย

 
 


5. กรณีหากเกิดมีพายุ ฝนตกหนัก หรือแผ่นดินไหว โครงการจะมีแผนรองรับอย่างไร

     ในกรณีที่ฝนตกหนักสูงสุดจากสถิติฝน 500 ปี บ่อกักเก็บน้ำฝนของโครงการสามารถรองรับน้ำฝนได้ถึง 8 วัน ส่วนบ่อน้ำเกลือสามารถรองรับน้ำฝนได้ 3.4 วัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากโอกาสการเกิดแล้วในความเป็นจริงเหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากแต่หากเกิดเหตุสุดวิสัยโครงการจะปฏิบัติตามแผนฉุกเฉิน
ที่ได้กำหนดไว้ หรือหยุดการผลิตทันที

 
 


6. การดำเนินการโครงการจะมีผลกระทบจากการปนเปื้อนของน้ำเกลือต่อน้ำใต้ดิน น้ำบาดาลและน้ำดื่มหรือไม่ และมีวิธีแก้ไขอย่างไร

    โครงการมีการสร้างชั้นกรวดทรายและปูรองด้วยแผ่นพลาสติกที่มีความหนา 2 ชั้น รวมทั้งจะติดตั้งท่อที่สามารถตรวจสอบการรั่วซึม เพื่อตรวจติดตามการรั่วไหลของน้ำเกลือ
นอกจากนี้ น้ำเกลือจากพื้นที่กองหางแร่จะไหลลงสู่บ่อเก็บน้ำเกลือ ซึ่งน้ำเกลือจะไม่ปนเปื้อนสู่บริเวณพื้นที่โครงการ

 
 


7. หากเกิดการทรุดตัวของแผ่นดินอาจส่งผลต่อโครงสร้างของที่พักอาศัยของประชาชน ทางโครงการมีวิธีการรับผิดชอบอย่างไร

    หากเกิดผลกระทบจากโครงการและตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำเหมือง โครงการจะมีการทำประกันความเสี่ยงตามมาตรา 88/6 และ 88/13
แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไข
การขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน ระบุให้โครงการฯ มีการทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองกรณีเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการทำเหมือง และนอกจากนี้
ได้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมืองโพแทช
ใช้เป็นเงินสำรองจ่ายให้กับประชาชนผู้ประสบภัยจากการทำเหมืองในเขตประทานบัตร ในกรณีที่บริษัทประกันภัยจ่ายเงินค่าเสียหายล่าช้า หรือยังอยู่ระหว่างการประเมิน
ค่าเสียหายและตรวจสอบข้อเท็จจริง

 
 


8. หากเกิด
การรั่วไหลของสารเคมี และสารเคมีปนเปื้อน โครงการมีมาตรการอย่างไร
โครงการมีการติดตั้งระบบตรวจสอบ การรั่วไหลของสารเคมีในบริเวณพื้นที่ โดยมีการจัดเก็บ และกำจัดสารเคมีที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

 
 

9. หากเกิดเสียงรบกวนจากการทำเหมือง จะทำอย่างไร
    ชุมชนบ้านหนองตะไก้เหนือ อยู่ใกล้พื้นที่โครงการมากที่สุด พบว่า ระดับเสียงที่เกิดจากการดำเนินโครงการ มีค่าระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป
(70 เดซิเบล(เอ)) เมื่อพิจารณาค่าระดับการรบกวน พบว่า มีค่าระดับการรบกวนในระยะดำเนินการทำเหมืองของโครงการอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม โครงการ
ได้เตรียมมาตรการป้องกันแก้ไข และลดผลกระทบในระยะเตรียมการทำเหมือง ระยะดำเนินการทำเหมือง และระยะสิ้นสุดการดำเนินการต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง จึงคาด
ว่าระดับเสียงจากกิจกรรมดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในระดับที่ไม่เป็นอันตราย

 
 


10. ของเสียของโครงการจะมีการบริหารจัดการอย่างไร

โครงการมีการจัดหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดการของเสียโดยตรง รวมถึงการระบุรายชื่อบริษัทที่รับกำจัดกากของเสียที่ทางโครงการว่าจ้างเพื่อสามารถตรวจสอบได้

 
 


11. โครงการจะมีแผนการดูแลพื้นที่โครงการ และชุมชนหลังการปิดเหมืองในอนาคตอย่างไร

โครงการจะมีการฟื้นฟูสภาพเหมือง ให้มีสภาพเหมือนกับช่วงที่ยังไม่มีการทำเหมือง เช่น การฟื้นฟูใต้ดิน คือ การถมกลับตรงช่องว่างที่มีการนำแร่ออกมาเพื่อป้องกัน
การทรุดตัวของผิวดิน ในขณะที่การฟื้นฟูสภาพของเหมืองบนผิวดิน หลังการทำเหมืองสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น สวนสาธารณะ ทะเลสาบน้ำจืด สถานที่พักผ่อน
หย่อนใจ หรือแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะรับไปพิจารณาต่อไป

 
 


ด้านสังคมและสุขภาพ

 
 


1. การแก้ปัญหาความแตกแยกในชุมชนของประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนโครงการ

    ความแตกแยกดังกล่าวเป็นความแตกต่างกันทางความคิด ซึ่งเกิดขึ้นจากความกังวลต่อผลกระทบและการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องซึ่งเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าความขัดแย้งนั้นมีความรุนแรงเกิดจากวิธีการคัดค้านของกลุ่มผู้ที่ต่อต้านโครงการ อย่างไรก็ตาม ทางโครงการได้มีความพยายามที่จะให้ข้อมูลข่าวสาร
รายละเอียดโครงการตลอดจนการจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันอย่างต่อเนื่อง

 
 


2. ความโปร่งใสในการทำตามขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรของโครงการ

    โครงการได้ดำเนินการกิจกรรมทุกอย่างโดยยึดตามระเบียบ ข้อกำหนดตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

 
 


3. โครงการควรมีการพูดคุยกันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกับชุมชน เพื่อลดความขัดแย้งในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

    บริษัทฯ กำลังดำเนินการที่จะพูดคุยพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

 
 


4.
การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างถิ่นจะส่งผลเรื่องการแย่งงานของคนในท้องถิ่นหรือไม่
    การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างถิ่นตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการมีแนวโน้มในอัตราที่น้อย เพราะโครงการรับคนในท้องถิ่นเข้าทำงานเป็นลำดับแรกก่อนคนนอกพื้นที่

 
 


5. ประชาชนสามารถตรวจสอบโครงการในช่วงขุดแร่ได้หรือไม่ ว่าจะไม่มีการขุดนอกเหนือจากเขตสัมปทานเหมืองแร่

    ตามพร.บ.แร่ พ.ศ.2545 หมวด4/1 ว่าด้วยการทำเหมืองใต้ดิน มาตรา 88/11 ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่โครงการได้รับประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน อธิบดีกรม
อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะเรียกประชุมผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งหมายถึงผู้แทนของผู้มีส่วนได้เสีย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้บริหารและสมาชิก
สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่มีที่ดินหรืออยู่อาศัยในเขตที่มีการทำเหมืองแร่ เพื่อกำหนดตัวบุคคลที่จะเป็นคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการทำเหมือง
คณะกรรมการชุดดังกล่าวสามารถเข้ามาติดตามตรวจสอบการทำเหมืองได้ทุกขั้นตอนของการดำเนินงานโครงการ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าประชาชนซึ่งได้รับการแต่งตั้ง
เป็นคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการทำเหมือง จะได้เข้ามาร่วมตรวจสอบโครงการในช่วงเตรียมการทำเหมือง โดยเฉพาะช่วงดำเนินการผลิตแร่ไม่ให้เกิดอันตราย
และควบคุมการขุดไม่ให้ออกนอกเขตประทานบัตร

 
 


6. โครงการมีมาตรการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างไร
     ทางโครงการจะให้การสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ในด้านความพร้อมของสถานบริการและศักยภาพของบุคลากรและจัดให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการ
ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่โครงการ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเฝ้าระวังภาวะสุขภาพของชุมชนสำหรับนำไปใช้ในการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ที่อาจเกิดจากการดำเนินงานของโครงการ เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท ตลอดอายุประทานบัตร