วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ทีมงานโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี นำโดย นายคทาวุธ แก้วมณีชัย หัวหน้าส่วนรัฐกิจสัมพันธ์ ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านหนองแหลมโคกนาคอง หมู่ 8 ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการฯ และมาตรการด้านสุขภาพของ พร้อมรับฟังความคิดเห็นด้านการมีส่วนร่วมของ อสม. ในการร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ
นายคทาวุธ แก้วมณีชัย หัวหน้าส่วนรัฐกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการฯ ขนาดใหญ่ ที่มีรัฐบาลร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ใช้ มีความทันสมัยและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการศึกษาวิจัยกระทั่งมั่นใจว่า วิธีการดำเนินโครงการฯ และเทคโนโลยีที่ใช้ มีความปลอดภัยสูง ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยได้มีการรวบรวมสถิติด้านสุขภาพของคนในชุมชนตั้งแต่ก่อนเปิดเหมือง และจะมีการตรวจสุขภาพประชาชนทุกปี เพื่อสามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของคนในชุมชนได้
“โครงการฯ มีกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ในการตรวจสุขภาพให้กับผู้ที่อยู่ในเขตประทานบัตร ตั้งแต่ก่อนการดำเนินโครงการฯ และจะมีการตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้านทุกปี ในช่วงดำเนินโครงการฯ เพื่อให้ทราบว่า สุขภาพของชาวบ้านแต่ละคนเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือได้รับผลกระทบจากเหมืองฯ อย่างไร โดย อสม. จะเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามเฝ้าระวังด้านสุขภาพของชาวบ้าน ซึ่งหากได้รับผลกระทบจากเหมืองฯ ก็จะต้องได้รับการดูแลเยียวยาจากเหมืองฯ” นายคทาวุธกล่าว
นางณีรัตน์ สุทธิรอด ประธาน อสม. กล่าวถึงบทบาทของ อสม. ว่า อสม.หนองแหลมโคกนาคอง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ รพ.สต.หนองขอนกว้าง มีหน้าที่ติดตามผู้ป่วยเบื้องต้น ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน โดยทาง อสม.พร้อมให้ความร่วมมือกับมาตรการด้านสุขภาพของโครงการฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และจะต้องมีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่
ด้านนายทองสา พลงาม อดีต อสม. ได้สอบถามเพิ่มเติมว่า หากโครงการฯ ส่งผลกระทบอื่นๆ นอกจากด้านสุขภาพ เช่น เกิดมลพิษ หรือมีน้ำเกลือไหลออกนอกโครงการฯ ไปสู่ชุมชน ทางโครงการฯ จะมีการรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ นายคทาวุธกล่าวว่า โครงการฯ มีมาตรการป้องกันผลกระทบด้านต่างๆ ได้แก่ การทรุดตัว เสียง การสั่นสะเทือน น้ำเกลือ ฝุ่น ฯลฯ ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่อย่างไรก็ตาม โครงการฯ จะมีการทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด (200 ล้านบาทในช่วงก่อสร้าง และ 500 ล้านบาทในช่วงดำเนินการ) ซึ่งหากชาวบ้านได้รับผลกระทบ ก็สามารถแจ้งไปยังตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียโดยตำแหน่งอยู่แล้ว เพื่อจะรายงานต่อไปยังคณะกรรมการกองทุนฯ และทำการตรวจสอบหาสาเหตุ ดำเนินการแก้ไขต่อไป
“หากชาวบ้านเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่มาก่อน ให้สันนิษฐานว่ามีสาเหตุมาจากโครงการฯ ก็จะได้รับการดูแลเยียวยาทันที โดยใช้งบประมาณกองทุนเฝ้าระวังด้านสุขภาพ และไม่ต้องรอการสืบหาสาเหตุว่ามาจากโครงการฯ จริงหรือไม่ แต่หากโครงการฯ ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อชุมชน เงินจากกองทุนฯ ก็จะมอบให้แก่คณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อนำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ แก่ชุมชนต่อไป” นายคทาวุธกล่าว
การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ อสม.หนองแหลมโคกนาคองในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นว่า โครงการฯ ส่งผลดีต่อชาวบ้าน ซึ่งนอกจากจะมีส่วนร่วมกับขั้นตอนการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการฯ ผ่านมาตรการด้านสุขภาพแล้ว ลูกหลานในชุมชนก็จะได้รับโอกาสในการทำงานอีกด้วย
|